พักนี้ แม่เหนื่อย รวมทั้งโกรธลูกบ่อยๆ ที่ไม่ทำอย่างที่แม่อยากให้ทำ ปารย์มักเลือกทำอะไรเฉพาะที่อยากจะทำเท่านั้น และทุกอย่างอยู่ในอาการเล่น เล่น และเล่น แม่คงแก่มากไปเลยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไมปารย์ถึงเล่นตลอดเวลา เมื่อต้นอาทิตย์ได้เข้าไปอ่านบทความใน Web รักลูก อ่านแล้วใช่เลย แม่นี่เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เข้าใจเด็กซะเลย แม่เลยแอบสำเนาบทความมาโดยไม่ได้ขออนุญาตใคร เอาไว้อ่านเตือนตัวเองเวลาโกรธปารย์
เกาะติดภารกิจ 3 วันในค่ายเปลี่ยนพ่อแม่ โดย กองบรรณาธิการนิตยสารรักลูก
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่กำลังมีทุกข์เพราะความรักลูก
คำถามคือ...คุณจะเลือกดับทุกข์ ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงลูกหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม???
ตลอด 3 วันในค่ายครอบครัวแห่งสติ...อริยะสร้างได้ ณ เสถียรธรรมสถาน แม่ชีศันสนีย์ ธรรมสุต หรือคุณยายจ๋าของเด็กๆ ตั้งใจจะให้เด็กและผู้ใหญ่อยู่ในบ้านหลังนี้อยู่อย่างเป็นสุข ด้วยการเต็มใจทำให้ผู้อื่นโดยไม่ทวงบุญคุณ ไม่ตัดสินลูกด้วยมาตรฐานและความรักของผู้ใหญ่ แต่เพียงอย่างเดียว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องไปเกาะติดพร้อมกันค่ะ
Day 1 : จัดใจ – จัดบ้าน เปิดใจกว้างและวางอคติ
ยามสายของวันแรกในค่าย สมาชิกที่มีลูกตั้งแต่วัยไม่ครบขวบไปจนถึงวัยรุ่นต่างทะยอยกันมาลงทะเบียน ทั้งหมดจะมาเป็นสมาชิกของค่ายตลอดระยะเวลา 3 วันค่ะ
คอนเซ็ปต์ของค่ายในวันแรกคือ “บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์...สร้างอริยชน” ซึ่งพ่อแม่ต้องสังเกตลูก เพื่อเปิดใจกว้างและวางอคติผ่านกิจวัตรประจำวันและให้โอกาสเด็กๆ ได้ร่วมทำอย่างเป็นสุขและมีสติ ค่ะ
เปิดใจกว้าง และวางอคติ
เมื่อเป็นค่ายสังเกตเด็ก...ไม่ใช่ค่ายจัดการเด็ก คุณยายจ๋าจึงทำความเข้าใจกับสมาชิกค่ายนี้คืองานปรับทิฐิพ่อแม่ ต้องเฝ้าสังเกตลูกอย่างที่ลูกเป็นและถ้ายัดเยียดแล้วลูกก็ทุกข์ เราจะทุกข์ ไปด้วย อย่าทำให้ลูกเป็นของโหลที่ทำอะไรก็เหมือนกันไปหมด ให้ความรักมีความเข้าใจอยู่ด้วย
จากนั้นก็เริ่มให้พ่อแม่เปิดใจกว้างและวางอคติ ผ่านกิจกรรมที่ทำได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
1. ลมหายใจแห่งสติคือศิลปะแห่งชีวิต “...ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน ภูผาใหญ่กว้าง ดั่งสายน้ำฉ่ำเย็น ดั่งนภาอากาศ อันบางเบา...” เสียงเพลงดั่งดอกไม้บานดังขึ้น พร้อมกับท่าทางพร้อมเพรียงซึ่งทุกคนจะรู้จักกันดี เป็นการฝึกดูสติตัวเองจากลมหายใจและการเคลื่อนไหวร่างกาย
2. แนะนำลูกในด้านที่ดีต่อหน้าผู้อื่น ระหว่างการทำความรู้จักของสมาชิก มีคุณแม่หลายคนเล่าถึงทุกข์ที่ลูกไม่เป็นอย่างที่อยากให้เป็น เช่น “....พอดีมีปัญหากับลูกสาว...” “...คุณหมอบอกว่าลูกเป็น....เลยพาเขามาใกล้ชิดธรรมะ” คุณยายจ๋าจึงแทรกคำแนะนำทันทีว่า
“กติกาของเราจะไม่พูดเรื่องเด็กไม่ดี อย่าแนะนำ บางเรื่องเรารู้ว่ามันมี แต่สิ่งที่มีไม่เป็นทุกข์ เราก็เป็นอริยะได้”
3. สังเกตและยอมรับอย่างที่ลูกเป็น คุณยายจ๋าถามว่าระหว่าง 45 นาทีที่แนะนำตัว มีพ่อแม่คนไหนนั่งอยู่แล้วไม่อึดอัดใจที่ลูกวิ่งเล่นไปมากลางวงบ้าง ว่าพ่อแม่เกือบทุกคนยอมรับว่าอึดอัดค่ะ
คุณๆ ลองหลับตานึกตามไปนะคะ ว่าระหว่างทำกิจกรรมนี้ ลูกเราส่งเสียงกรี๊ด วิ่งหรือนอนเล่นอยู่กลางวง ตะโกนเสียงดังใส่ไมค์ คุณอาจจะรู้สึกไม่ต่างจากพ่อแม่ในค่ายนี้ ที่ต่างพากันลุ้นตัวโก่งกับน้องมายด์ อายุ 2 ขวบ 11 เดือน ที่ถือไมค์อยู่นานกว่าจะหลุดชื่อและอายุออกมา น้องตี๋เล็กเดินวนอยู่รอบนอก ส่วนน้องเนสเล่ต์ก็เล่นในบ่อทรายมาหลายชั่วโมงโดยไม่ยอมลุกไปไหน
แต่ถ้าพ่อแม่ถอยห่างออกมาเพียง 1 ก้าว ก็จะรู้ว่านั่นคือธรรมชาติและความสุขของเด็ก และไม่จำเป็นต้องทุกข์เลย ถ้าเรารู้จักสังเกต เข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นค่ะ
4. ความสุขเล็กๆ ในใจฉัน กติกาของกิจกรรมนี้คือ ขอให้เรามีความสุขที่จะทำให้คนข้างหน้ามีความสุข เพื่อเรียนรู้ที่จะรู้จักความสุขเล็กๆ ในใจตัวเอง
โดยให้ทุกคนออกจากเบาะ (สื่อถึงการออกจากความคุ้นเคยของตัวเอง) ไปนั่งบนเสื่อแล้วเอามือไปแตะหัวไหล่คนข้างหน้าแล้วนวดไปพร้อมๆ กับเสียงเพลง
“ ฉันมีความสุขเล็กๆ อยู่ในใจ ในใจฉัน ในใจฉัน ฉันมีความสุขเล็กๆ ในใจฉัน...ฮื้ม ฮืม หื่ม ฮืม
I feel a little happiness of my heart.. of my heart, of my heart, I feel a little happiness of my heart…ฮื้ม ฮืม หื่ม ฮืม
จากนั้นก็หันหลังกลับมานวดคืนให้คนที่เคยนวดให้เรา เมื่อมีความสุขแล้วให้ขอบคุณทั้งคนที่อยู่ข้างหน้าและข้างหลังเรา การพนมมือขอบคุณไม่ใช่เรื่องเด็กและผู้ใหญ่ แต่เป็นการขอบคุณหัวใจทุกคนที่รู้ตื่นและเบิกบาน
คุณยายจ๋าเสริมว่า “เปลี่ยนจากการเอาบุญคุณกับเด็กๆ เป็นขอบคุณ บอกลูกว่าขอบคุณที่มีเขา เราจึงเห็นคุณค่าในตัวเองและมีความสุข ขอบคุณพ่อของลูกว่าเพราะมีพ่อ แม่และลูกจึงมีความสุข จงมีความสุขเมื่อทำให้ใครได้เป็นสุข”
5. สร้างวินัยในบ้านและแก้ปัญหาด้วยความสุข คุณยายจ๋าเอ่ยถามพ่อแม่ว่ามีใครรู้สึกรำคาญ 3 คนที่กำลังวิ่งเล่นวนข้างหน้านี้บ้าง คราวนี้ทุกคนส่ายหน้าว่าไม่รำคาญ คุณยายบอกต่ออีกว่า ถ้าไม่รำคาญก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่แก้ไข แต่ถ้ารำคาญ แปลว่าเราผิดวินัย เราจะไม่แก้ไขทุกเรื่องด้วยความรำคาญ เพราะไม่มีความรำคาญหรือความขุ่นมัวใดที่จะแก้ไขเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างอ่อนโยน
จากนั้นครูอุ้ย- อภิสิรี จรัลชวนะเพท ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก อาสาสมัครของเสถียรธรรมสถาน ก็ชวนเด็กๆ ให้ตั้งมือเป็นหลังคาจั่วแล้วเปลี่ยนท่าทางไปพร้อมกลับบทกวี
เล็กๆ เล็กๆ ยังมีบ้านหลังเล็กๆ
บ้านหลังเล็กๆ เล็กๆ ยังมีเทวดาองค์เล็กๆ (เอานิ้วโป้งกระดิกเข้าหากัน)
เทวดาองค์เล็กๆ เล็กๆ ยังมีสวนเล็กๆ (แบมือ 2 ข้าง)
สวนเล็กๆ เล็กๆ ยังมีต้นไม้เล็กๆ
ต้นไม้เล็กๆ เล็กๆ ยังมีรังนกเล็กๆ
รังนกเล็กๆ เล็กๆ ยังมีนกตัวเล็กๆ (ท่านกบิน)
นกตัวเล็กๆ เล็กๆ ยังมีไข่เล็กๆ
และทั้งหมดนี้..... (วาดมือออกกว้างๆ)
ดูแลโดย....เทวดาองค์เล็กๆ
เมื่อจบบทกวีที่แสนจะน่ารักนี้ ครูอุ้ยก็บอกวินัยของบ้านให้กับเหล่าเทวดาตัวน้อย เพื่อที่จะช่วยกันดูแลบ้านค่ะ เช่น ต้องเดินบนพื้นไม้ให้เบาเหมือนแมวย่อง ดูแลเสื่อทำจากต้นกกไม่ให้มีรอยกระเดิด น้องตัวเล็กๆ จะได้ไม่หกล้ม
ถึงตรงนี้คุณยายจ๋าเสริมเรื่องของวินัยในบ้านว่า “ของบางอย่างไม่ได้เตรียมไว้ครบกับทุกคน เพราะความสุขไม่ใช่แปลว่าต้องแบ่งขนมเค้กให้ครบจำนวนชิ้นกับจำนวนคน อาหารอร่อยเพราะกินกันหลายคน เราใช้น้อยที่สุด เพื่อให้คนอื่นได้มากที่สุด"
งานบางชิ้นต้องใช้หลายคน งานบางชิ้นไม่ได้มีป้ายบอกว่าเป็นผลงานของเรา แต่ก็มีความสุขของเราอยู่ในนั้น พ่อแม่จะไม่สอนให้ลูกอวดว่าทำได้ แต่ควรให้เขามีความสุขที่ได้ทำ แล้วของที่ทำนั้นเป็นของคนอื่นได้ เด็กๆ จะมีวินัยที่จะทำเพื่อได้ให้เป็นที่รักโดยไม่ต้องเสแสร้ง อย่าถามลูกว่ากำลังทำอะไร แต่ให้ถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำ
6. จัดบ้านเพื่อจัดใจ แม้จะผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อปล่อยวางอคติของพ่อแม่มาตั้งแต่เช้า แต่ไฮไลต์สำคัญคืองานต่างๆ ในบ้านที่เด็กๆ และพ่อแม่ต้องทำกันเอง เช่น ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดปาก ผ้าปูโต๊ะ เทียน ส่วนเด็กโตขึ้นมาหน่อยจะได้รับมอบหมายให้รักษาความปลอดภัยชุมชน รวมทั้งให้บริการเด็กและผู้ใหญ่ในบ้าน
ซึ่งทั้งหมดนี้มีกติกาว่า พ่อแม่จะไม่เข้าไปจัดการลูก แต่จัดใจตัวเองและเดินให้ช้าลง 1 ก้าว สังเกตและมองลูกอย่างเข้าใจ เพื่อให้โอกาสเขาเรียนรู้การแก้ปัญหาเอง เช่น เด็กเงื้อมือแย่งของกัน ถ้าพ่อแม่ช้าลง 1 ก้าว เขาก็จะแก้ปัญหาเอง
บทเรียนพิสูจน์ใจ
เมื่อได้เปิดใจกว้าง วางอคติกันพอสมควรแล้ว บททดสอบใจก็มาเยือนพ่อแม่กันตั้งแต่วันแรกเลยทีเดียวค่ะ
บ่อทรายแสนสุข
เมื่อมีเด็กในบ่อทรายเพิ่มจำนวนขึ้น การโต้เถียงของเด็กๆ ก็ตามมา จนคุณแม่ต้องรีบเข้าไปห้ามและแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านรวมทั้งตัวดิฉันเองก็คงทำแบบนั้นเช่นกัน แต่คุณยายจ๋าเตือนสติถึงข้อตกลงที่บอกว่าให้พ่อแม่สังเกตลูกและช้าลง 1 ก้าว
สักครู่ คุณยายจ๋าจึงเอ่ยกับเด็กๆ ในบ่อทรายว่า “เรามีกองทราย เราไปเก็บใบไม้ ใครอยากได้ เราจะแบ่งให้ ใบไม้มีตั้งเยอะ ใครอยากช่วยยายทำตรงนี้บ้าง”
เนสเล่ต์หันมาสนใจด้วยอารมณ์ที่เย็นลง “หนูอยากให้ใบไม้ไม้มันอยู่บนภูเขา เด็ดบนต้นได้มั้ย”
คุณยายจ๋า : เด็กฉลาดจะรู้ว่าจะหาใบไม้จากไหน โดยไม่ต้องเด็ด เพราะถ้าเด็ดแล้วต้นไม้จะเจ็บ กติกาคือเอาใบไม้มาโดยไม่ให้มันเจ็บ
คราวนี้เนสต์เล่ต์ก็เดินออกนอกบ่อทราย โดยที่ไม่ต้องมีการบังคับใดๆ เลย
แล้วกลับมาบอกว่า “พอก่อนได้มั้ยครับ ใบไม้เยอะแล้ว”
Day 2 สร้างวินัย...ด้วยการให้ +ทำงานอย่างสุขใจ
เสียงระฆังแห่งสติปลุกคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ อาจจะมีเด็กๆ ตื่นเช้าบ้าง สายบ้าง ค่ายนี้ก็ไม่ได้บังคับกันค่ะ เพราะยึดหลักใจเป็นสุขค่ะ อีกอย่างคือเด็กที่มาอยู่ในค่ายก็อายุไม่เท่ากัน จากครอบครัวที่ต่างกัน จึงใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ดิฉันสังเกตเห็นเด็กตัวเล็กๆ ตื่นเช้ามาพร้อมๆ กับพ่อแม่ค่ะ
หลังจากที่เมื่อวาน เราได้ปล่อยวางอคติกันแล้ว คอนเซ็ปต์ของค่ายวันที่ 2 คือแตกหน่อสติปัญญา พัฒนาใจตน หรือเป็นการสร้างวินัยในบ้านอย่างมีความสุขนั่นเองค่ะ
คุณยายจ๋าอธิบายให้ฟังว่า “วินัยแปลว่าความเคยชิน ถ้าเป็นกติกา มันเป็นความต้องการของคนใดคนหนึ่งแต่อาจจะไม่ได้เป็นความสมัครใจของคนอื่น วินัยในครอบครัวแห่งสตินี้จะเป็นความเคยชินที่เราจะทำงานทุกชนิดด้วยจิตที่รู้ตื่นและเบิกบาน เช่น นวดกันด้วยรู้ตื่นและเบิกบานที่จะไม่ทำให้คนข้างหน้าทุกข์เพราะเรา และเราจะไม่รั้งรอให้คนข้างหน้าเป็นสุข”
วันนี้ทุกคนในครอบครัวจึงได้เรียนรู้ถึงการสร้างวินัยให้ตัวเอง ทั้งจากการให้ และทำงานอย่างเป็นสุข ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมายคือ
1. วินัยจากการทำงานอย่างเป็นสุข ทั้งพ่อแม่และเด็กๆ ช่วยกันเก็บกวาดลานบ้าน บางคนตามคุณแม่ไปเก็บดอกไม้ไว้เพื่อประดับโต๊ะอาหาร คุณยายจ๋าสมมติให้เหล่านางฟ้าตัวน้อยประจำบ้านมีผ้ากายสิทธิ์พร้อมพร ที่จะออกไปทำให้บริเวณบ้านและโต๊ะอาหารสะอาดเอี่ยม
2. วินัยจากธรรมะในวิถีชีวิต หลังจากช่วยกันทำให้บ้านสะอาดแล้ว พ่อแม่ก็พาเด็กๆ มาเข้าแถวรอใส่บาตรคุณยายและแม่ชีท่านอื่นๆ
กิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้ที่จะเต็มใจให้และมีความสุขที่จะให้ คือเมื่อพ่อแม่ไม่ผลักดันลูก เขาก็ตัดสินใจว่าอยากจะให้ชิ้นไหนกับใคร ไม่ว่าจะใส่บาตรก่อนหรือหลังก็ใจเป็นสุขได้ คุณยายจ๋ายังแนะนำเด็กๆ ให้นึกถึงคนอื่นอีกว่า
“คุณยายรับบาตรเป็นคนแรก จะขอรับชิ้นที่เล็กที่สุด เพื่อให้มีเพียงพอถึงคนข้างหลัง"
3. วินัยจากการเป็นสุขที่ได้เป็นผู้ให้ แต่ละมื้ออาหาร เด็กๆ จะได้โจทย์ว่า “หนูทำอะไรให้กับใครบ้าง” ข้าวของที่ช่วยกันประดิษฐ์เมื่อวาน ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารในวันนี้ ทั้งผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน ผ้าเช็ดปาก เทียน
ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ ยังได้ตักอาหาร เสิร์ฟน้ำ ล้างจาน พี่ๆ ได้ดูแลน้อง ดูแลพ่อแม่ แม้จะหกไปนิดเลอะไปหน่อย แต่หนูๆ เต็มใจและเบิกบานที่จะทำค่ะ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยจากความสุขเล็กๆ ในใจที่ได้เป็นผู้สร้าง ผู้ให้ และผู้ใช้น้อย
4. วินัยเมื่อพ่อแม่ให้ได้มากกว่าที่เคย ตอนค่ำของกิจกรรมวันนี้เป็นการแสดงละครพุทธประวัติของเด็กๆ ค่ะ เป็นละครที่คุณยายจ๋าให้พ่อแม่ย้อนดูตัวเองด้วย คือไม่ดูละครด้วยอคติหรือคอยจับผิด แต่ให้ดูอย่างชื่นชมและให้กำลังใจ
พี่ๆ เด็กโตแบ่งเป็น 3 กลุ่มแล้วพาน้องๆ ไปซ้อมบท งานนี้พ่อแม่ได้แต่เฝ้ามองค่ะ เพราะหากเข้าไปจัดการให้ทุกอย่างเพราะอยากให้ออกมาดูเฉียบ เนี้ยบ นิ้ง ก็เท่ากับเราไม่ได้ให้โอกาสและความไว้ใจลูกที่จะสร้างวินัยและแก้ปัญหากันเอง ยกเว้นแต่เด็กๆ ได้ตัดสินใจว่าจะมาขอให้ช่วยค่ะ อย่างกลุ่มที่ 3 ได้ขอให้บรรดาคุณพ่อช่วยทำหน้ากากควายกับคันไถให้ รวมทั้งเป็นตัวประกอบบางฉากด้วย
บทเรียนพิสูจน์วินัย
ระหว่างที่ทุกคนทำงานอย่างสุขใจเพื่อสร้างวินัย ก็มีเรื่องท้าทายผู้ใหญ่มาเป็นระยะเลยล่ะค่ะ อย่างเช่น
เหตุเกิดที่บ่อทราย เช้านี้คุณยายจ๋ามีโจทย์ว่าให้มีเด็กทำงานอยู่ในบ่อทรายได้ 2 คน เพื่อจะได้ไม่เหงา ส่วนเด็กคนอื่นๆ ก็ทยอยกันไปทำกิจวัตรงานบ้านอย่างอื่น
แต่เนสเล่ต์ขอให้คุณยายจ๋าเข้ามาในบ่อทรายด้วย คุณยายจึงบอกว่าจะเข้าไปช่วยทำงานในบ่อทรายได้ก็ ต่อเมื่อทำงานข้างนอกเสร็จแล้ว จากนั้นน้องเนสเล่ต์ก็ออกมาช่วยงานต่างๆ ข้างนอกโดยไม่ลังเลเลยล่ะค่ะ โดยเก็บเรื่องบ่อทรายไว้เป็นความสุขเล็กๆ ในใจ และเขาจะกลับไปก็ต่อเมื่อทำงานบ้านเสร็จแล้ว ซึ่งเหมือนกับการสร้างวินัยให้ตัวเองโดยไม่ต้องรู้สึกว่าถูกบังคับจนไม่มีความสุข
เหตุเกิดที่ลานบ้าน ถ้าเด็กคนหนึ่งทำงานอย่างมีวินัยกับตัวเองแล้ว เราก็ควรจะให้เขาได้ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาด้วย อย่างเหตุการณ์ในเช้าวันนี้ ที่คุณยายจ๋าเอามือชี้ไปที่ขี้นก เด็กคนหนึ่งตอบทันทีว่าไม่ได้ทำ คุณยายจึงเอ่ยว่า ไม่ได้ถามว่าใครทำ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะอยู่กับมัน แล้วมันดีขึ้น เด็กน้อยจึงเอาไม้เขี่ยขี้นกไปทางอื่นทันที คุณยายจ๋าถามว่า แต่ถ้าเราเอาขี้ให้คนอื่นจะดีหรือ สุดท้ายเด็กจึงได้ไอเดียใหม่ว่าเอาขี้ไปทำปุ๋ยดีกว่า
สิ่งที่มองเห็นได้ง่ายๆ ในวันนี้คือ แม้จะอากาศร้อนมากแต่เด็กๆ ก็มีความสุขได้โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าพ่ออแม่จะทำอะไร เขาจะตามไปอยู่ใกล้ๆ และช่วยหยิบจับ เด็กโตจะเลือกทำงานที่เหมาะสมกับแรงของตน ส่วนเด็กเล็กๆ นั้นจะทำงานโดยเลียนแบบจากผู้ใหญ่ เช่น พ่อกวาด ลูกเก็บ แต่ถ้าแม่นั่งลูกก็จะนั่งด้วย
ดังนั้นวินัยจึงไม่ใช่เรื่องต้องบังคับหรือฝืนทำ แต่มันคือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติและเราก็ทำมันไปตามธรรมชาตินั้นค่ะ
Day 3 ถักทอสายใยเพื่อต่อยอดต้นกล้า
หลังจากที่เด็กๆ และพ่อแม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันจนสร้างวินัยในบ้านได้แล้ว เป้าหมายต่อไป คือการทำให้เรื่องดีๆ เหล่านี้คงอยู่และงอกงามต่อไป คอนเซ็ปต์ของค่ายวันสุดท้ายจึงเป็นเรื่องต่อยอดต้นกล้า...อาสารับใช้โลก ซึ่งต้องอาศัยความรักความผูกพันที่มีต่อกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นที่จะก้าวต่อไป
เช้านี้เด็กๆ ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอผู้ใหญ่จัดการให้ เหล่านางฟ้ากับผ้ากายสิทธิ์ยังคงใช้ผ้าในมือดูแลให้บ้านสะอาด เด็กหลายคนมาเข้าแถวรอใส่บาตรโดยไม่ต้องมีพ่อแม่มาคอยกำกับ รวมทั้งน้องเนสเล่ต์ที่ออกจะบ่อทรายโดยไม่รีรอ “หนูกลัวคุณยายจะไม่มีกิน ถ้าไม่มีใครมาทำบุญด้วย สงสารคุณยาย”
อย่างน้องมายด์เก็บเงินได้ 10 บาท ก็เอามาให้ผู้ใหญ่ถามหาเจ้าของ เมื่อบอกให้น้องมายด์เก็บไว้ใส่ออมสิน น้องมายด์ส่ายหน้าว่าไม่ใช่ของหนู เอาไปไม่ได้ค่ะ เด็กบางคนเรียงรองเท้าของสมาชิกในบ้านอย่างเป็นระบียบเหมือนที่เคยเห็นแม่ทำเมื่อวันก่อน
ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ทำงานบ้านเพื่อใช้สื่อสารและยึดโยงสายสัมพันธ์ของครอบครัวเอาไว้ เช่น คุณพ่อตกแต่งฝ้าเพดานบ้านด้วยผ้า พ่อทำผ้าบังแดดเพื่อให้คนที่รักปลอดภัย
ขณะที่คุณแม่ทำตุ๊กตาไว้แขวนตรงจุดอันตรายต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนคำสอนของแม่ที่เคยบอกลูกว่าไม่ให้ปีนป่าย
บทเรียนสายใยครอบครัว
ช่วงบ่ายแก่ๆ คุณยายจ๋าให้พ่อแม่ใช้ด้ายผูกข้อมือพร้อมบอกขอโทษลูกในสิ่งที่พ่อแม่ทำให้ลูกเป็นทุกข์ หรือเรื่องที่อยากบอกแต่ไม่เคยบอกลูก เป็นการรับขวัญลูกกลับบ้าน แม้จะเป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่ก็พร้อมจะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับเขา
เมื่อต่างคนต่างลดกำแพงใจลง ความรักด้วยความคาดหวังจึงแปรเปลี่ยนเป็นรักด้วยความเข้าใจ ส่วนวิธีสานสัมพันธ์นั้นก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละครอบครัวแล้วล่ะค่ะ
อะไรคือหนทางสร้างเด็ก
ค่ายจบแล้ว แต่เด็กๆ ยังต้องเติบโตการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่และเป็นที่เรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ คุณยายจ๋าได้ฝากถึงพ่อแม่ว่า
“เราต้องเข้าใจการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่โยนลูกให้ระบบการศึกษา หรือเอาไปฝากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การทำค่ายครั้งนี้มาจากแนวคิดที่ว่า อริยะ แปลว่า ประเสริฐ อริยบุคคล แปลว่า ผู้ประเสริฐ ดังนั้น ค่ายครอบครัวแห่งสติ...อริยะสร้างได้ ก็คือกระบวนการเรียนรู้ของพ่อแม่ เพื่อสร้างครอบครัวอริยะเพราะพ่อแม่คือผู้สร้างลูกให้โลกและเป็นต้นแบบของลูก ในฐานะที่พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก และบ้านก็เป็นห้องเรียนแรกของลูก พ่อแม่จึงเป็นผู้ทำความสุขให้ลูกเห็น ด้วยการมีวิถีชีวิตที่สุขง่าย ทุกข์ยาก และมีความสุขเมื่อเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้เสพ
อริยชนคือกลุ่มที่ประเสริฐ ต้องเข้าใจเรื่องของหนทางที่เป็นหนทางสายเอกที่เรียกว่าอริยมรรค และคนที่จะรู้อริยมรรค ต้องรู้และเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 ด้วย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึง เด็กๆ ต้องเรียนรู้จักความทุกข์ ความอึดอัด ซึ่งความอึดอัดนั้นไม่ได้มีไว้ให้เขาวิพากษ์วิจารณ์หรือเพ่งโทษคนอื่น แต่มีไว้ให้หาทางแก้ ขณะเดียวกันความทุกข์ในใจของพ่อแม่ก็ทำให้เด็กเป็นทุกข์ไปด้วย
ครอบครัวแห่งสติจะต้องเข้าไปเรียนรู้อย่างที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้น โดยไม่มองว่าลูกเป็นปัญหา แต่ต้องทำให้ความสนใจของลูก มีความสนใจของเราเข้าไปด้วยเพราะ ถ้าพ่อแม่เล่นได้มากกว่าที่เขาเล่น เขาจะติดต่อได้อีก
แล้วพ่อแม่ก็ต้องบอกรักลูกอย่างเป็นสุข เมื่อถึงวัยหนึ่งเด็กก็จะออกจากอกเรา จงใช้โอกาสนี้บอกรักเขา ให้เขารู้ว่าเราเป็นสุขที่ได้รักเรา อย่าบังคับ และใช้เหตุผลข้างๆ คูๆ เพื่อเอาชนะกันเลย ถ้าพ่อแม่เครียดความเครียดก็จะทำลายสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกด้วยกันเอง
ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 306 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551
ยาวนะ.....อ่านจบก็ลืมเรื่องโกรธปารย์พอดี กลับไปเล่นกันต่อได้แล้วลูก
No comments:
Post a Comment